เทคนิคในการเลือกซื้อ 3D Printers ตอน 2 (จบ)

ก่อนหน้านี้เขียนบทความเกี่ยวกับ 3D Printing Technologies และ 3D Printer ไปแล้ว วันนี้จะมาแนะนำสิ่งที่ควรพิจารณาในการเลือกซื้อ 3D Printer ที่เหมาะสมกับการใข้งาน มาเริ่มกันเลยค่ะ ด้วยการถามตัวเราเองด้วยคำถามต่อไปนี้

 

(เทคนิคที่ 1-6 : เทคนิคในการเลือกซื้อ 3D Printers ตอน 1, เทคนิคที่ 7-12 : เทคนิคในการเลือกซื้อ 3D Printers ตอน 2 (จบ))

7. ความกว้างของ filament หรือวัสดุพิมพ์

เครื่อง 3D Printer ส่วนมากใช้ filament ที่เป็น plastic ขนาดที่พบมากคือที่ความกว้าง 1.75 mm และ 3 mm แต่ 3D Printer ส่วนมากจะใช้ filament ขนาด 1.75 mm เป็นมาตรฐาน คุณภาพของการพริ้นต์และความหนาของชั้นหรือ layer ไม่ขึ้นกับความกว้างของ filament แต่ความหนาของชั้นหรือ layer นั้นกำหนดโดย extruder ของเครื่อง

8. ความหนาของชั้นหรือ layer (หรืออาจเรียกว่า vertical resolution)

ค่านี้หมายถึงความหนาของชั้นหรือ layer ที่น้อยที่สุดที่เครื่อง 3D Printer สามารถทำได้ในการพริ้นต์งาน 1 รอบหรือ 1 ชั้น ยิ่งความหนาของชั้นหรือ layer ยิ่งน้อย ชิ้นงานที่พริ้นต์ออกมา จะยิ่งมีความละเอียดมาก แต่เวลาในการพริ้นต์งานก็จะมากเพราะจำนวนชั้นหรือ layer นั้นมีมาก

  • FDM Printer ทั่วๆไป ความหนาของชั้นหรือ layer จะอยู่ที่ 0.2 – 0.3 mm
  • FDM Printer ที่มีราคาสูงขึ้นไป ความหนาของชั้นหรือ layer จะอยู่ที่ 0.1mm (เครื่องบางรุ่นสามารถปรับความหนาของชั้นหรือ layer ได้ ดังนั้นเราจะสามารถปรับความหนาของชั้นหรือ layer ให้มากขึ้น เพื่อทดลองพริ้นต์ชิ้นงานแบบ draft ออกมาดูในเบื้องต้น ด้วยเวลาการพริ้นต์ที่เร็วขึ้น)
  • SLA Printer ความหนาของชั้นหรือ layer จะอยู่ที่ 0.03 mm

9. ความละเอียดในแนวระนาบ XY หรือ Horizontal resolution

ความละเอียดในแนวระนาบ XY เป็นตัวบ่งบอก การเคลื่อนที่ในแนวระนาบที่น้อยที่สุดที่ extruder สามารถทำได้ใน 1 ชั้นหรือ layer ของการพริ้นต์ ยิ่งความละเอียดในแนวระนาบ XY มีมาก ชิ้นงานที่พริ้นต์ออกมา จะยิ่งมีความละเอียดมาก เครื่อง 3D Printer ทั่วๆไป ค่าความละเอียดในแนวระนาบ XY ไม่ควรมากกว่า 0.3 mm

10. Heated bed หรือ non-heated (เครื่องแบบที่มีระบบอุ่นหรือไม่มี)

เครื่อง 3D Printer ที่มีระบบในการอุ่นหรือ heated bed จะสามารถเพิ่มคุณภาพของชิ้นงานที่พริ้นต์ให้สูงขึ้น เพราะอุณหภูมิของพลาสติกหรือวัสดุพิมพ์ จะถูกรักษาหรือถูกอุ่นไว้เสมอตลอดระยะเวลาการพริ้นต์ และยังสามารถลดการบิดงอ หรือ warping ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ต้องการสำหรับชิ้นงาน การบิดงอ หรือ warping มีสาเหตุจากการเย็นตัวของพลาสติกที่ไม่เท่ากัน ที่ขอบของชิ้นงานจะเย็นตัวเร็วกว่าส่วนที่อยู่ตรงกลาง แต่เครื่อง 3D Printer ที่มีระบบในการอุ่นหรือ heated bed นั้นมักมีราคาแพง ดังนั้นบางผู้ผลิตจึงผลิตด้วยรุ่นที่ไม่มีระบบในการอุ่นหรือ heated bed แต่มี option ให้ลูกค้าเลือกที่จะเพิ่มระบบในการอุ่นหรือ heated bed ได้ แต่อย่างไรก็ดีสำหรับเครื่องที่ไม่มี ระบบในการอุ่นหรือ heated bed นั้น เราก็สามารถลดการบิดงอ หรือ warping ของชิ้นงานได้โดยการเพิ่ม raft (มีลักษณะเป็นแพที่มีร่อง) ที่ด้านล่างของชิ้นงาน (ตามรูปด้านล่าง) พื้นผิวของ raft ที่เพิ่มขึ้นมาจะช่วยเพิ่ม แรงจัดยึดระหว่างชิ้นงานกับ print bed แต่เราก็จะต้องใช้วัสดุมากขึ้นสำหรับส่วนของ raft (raft จะถูกตัดออกในภายหลัง)

11. ความเร็วในการพริ้นต์

ยิ่งเราจำเป็นที่จะต้องพริ้นต์ชิ้นงานในปริมาณมาก ความเร็วในการพริ้นต์ยิ่งมีความสำคัญ ปัจจัยที่มีผลต่อความเร็วในการพริ้นต์คือ ประสิทธิภาพของเครื่อง 3D Printer, ความซับซ้อนของชิ้นงาน, ประเภทของวัสดุ สำหรับเครื่อง 3D Printer ความเร็วในการพริ้นต์หมายถึง ความเร็วในการเคลื่อนที่ของ extruder ของเครื่อง นอกจากนี้ความเร็วในการพริ้นต์ของเครื่องยังรวมไปถึง ช่วงที่ต้องเร่งหรือลดความเร็วของ extruder ของเครื่องด้วย

12. คุณสมบัติอื่นๆ ของ 3D Printer ที่เราสนใจ

ในหัวข้อนี้หมายถึงคุณสมบัติอื่นๆ ของ 3D Printer ที่นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด แต่มีความสำคัญสำหรับผู้ใช้งาน ซึ่งแต่ละคนจะให้ความสำคัญที่แตกต่างกัน จึงแยกมาไว้ที่ข้อสุดท้าย คุณสมบัติต่างๆ เช่น

  • ขนาดของเครื่อง
  • น้ำหนักของเครื่อง
  • เสียงของเครื่องในขณะทำงาน
  • การปล่อยความร้อนของเครื่องในขณะทำงาน
  • ความสามารถในการเคลื่อนย้าย (ถ้าเราต้องเคลื่อนย้าย 3D Printer บ่อยๆ เช่น งานแสดงสินค้า หรืองานสัมนา เป็นต้น)

และคุณสมบัติอื่นๆ ที่ผู้ใช้งานสนใจ สำหรับการพิจารณา

(เทคนิคที่ 1-6 : เทคนิคในการเลือกซื้อ 3D Printers ตอน 1, เทคนิคที่ 7-12 : เทคนิคในการเลือกซื้อ 3D Printers ตอน 2 (จบ))

ที่มา : all3dp